สถานการณ์ที่เกิดขึ้นที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ไม่ใช่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ หรือโดยการเรียกร้องต้องการของประชาชน หรือของญาติพี่น้องของผู้ต้องหาเกี่ยวกับการแจ้งความเท็จเรื่องอาวุธปืนจำนวน 6 คน แต่เป็นเรื่องของการจงใจสร้างสถานการณ์อย่างชัดเจน มีการประสานงานกับมวลชนในหลายพื้นที่ รวมทั้งในพื้นที่อำเภอตากใบ และพื้นที่อื่นๆ ให้มาร่วมชุมนุมยังจุดนัดหมายในเวลาเดียวกัน
ซึ่งในเวลาต่อมาปรากฏว่าได้มีบรรดาชายฉกรรจ์ และกลุ่มวัยรุ่นนับหลายร้อยคน เริ่มเดินทางมารวมตัวปิดทางเข้าออกของโรงพักอำเภอตากใบ เพื่อกดดันให้เจ้าหน้าที่ทำการปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้ง 6 ซึ่งเมื่อเวลายิ่งผ่านไป จำนวนคนที่โอบล้อมได้เพิ่มจำนวนเป็นหลักพันคน เจ้าหน้าที่พยายามใช้วิธีเจรจาไกล่เกลี่ย แต่บรรดาผู้ชุมนุมไม่มีทีท่าจะรับฟังสิ่งใดทั้งสิ้น พร้อมกับโห่ร้องปลุกระดม ยื่นเงื่อนไขให้เจ้าหน้าที่ทำการปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้ง 6 โดยไม่มีข้อแม้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
ในขณะที่เจ้าหน้าที่ได้พยายามติดต่อบรรดาผู้ปกครองของผู้ชุมนุมที่เป็นวัยรุ่นให้มาช่วยกันกล่อมบุตรหลานให้กลับบ้าน ซึ่งก็ได้ผลในระดับหนึ่ง มีผู้ชุมนุมบางส่วนเริ่มทยอยเดินทางกลับ เนื่องจากรู้ว่าเป็นกลลวงของกลุ่มขบวนการที่ชักจูงโน้มน้าวให้ชาวบ้านมาชุมนุมปิดล้อมโรงพักตากใบ ซึ่งมีบางส่วนได้ให้ข้อมูลว่าก่อนหน้านี้มีการหลอกชาวบ้านว่าจะนำไปเปิดบวช (ละศีลอด เดือนรอมฏอน) ซึ่งชาวบ้านเองก็หลงเชื่อเป็นจำนวนมาก แต่ในความเป็นจริงแล้วกลุ่มขบวนการขนมาสมทบเพื่อเพิ่มกำลังคนในการชุมนุมจนเกิดการประท้วงขึ้น แต่เหตุการณ์ก็ยังคงมีทีท่าว่าจะรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมีผู้ชุมนุมบางส่วนมีการนำอาวุธเข้ามา และบางส่วนมีอาการในลักษณะมึนเมา และเริ่มรุนแรง จนถึงขั้นใช้ทั้งก้อนหิน ใช้ไม้และสิ่งของขว้างปาใส่เจ้าหน้าที่ และไปจนถึงขั้นมีบางคนที่ใช้อาวุธปืน จากนั้นเริ่มมีบางส่วนทำการผลักดันบุกเข้ามาในบริเวณที่เจ้าหน้าที่ตั้งรับอยู่ จึงเกิดการปะทะกันขึ้น นำไปสู่ความชุลมุนวุ่นวาย เจ้าหน้าที่ทำการสลายการชุมนุมด้วยการใช้น้ำแรงดันสูงฉีดเข้าใส่ผู้ชุมนุม และใช้กำลังตำรวจทหาร เข้าจับกุมบรรดาหัวโจกหลายๆ คนที่เป็นแกนนำ ทำการควบคุมสถานการณ์ และเมื่อสถานการณ์สงบลง ปรากฎว่ามีผู้ชุมนุมเสียชีวิตและเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บบางส่วน
การเกณฑ์คนให้มารวมตัวกันนำไปสู่ความสูญเสีย เป็นความมุ่งหมายของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงที่ต้องการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ขึ้นมา อีกทั้งยังนำเหตุการณ์ต่างๆ เชื่อมโยงกับเหตุการณ์สำคัญๆ ที่เกิดขึ้นไล่เลี่ยกัน เช่น กรณี กรือเซะ ตากใบ ถือว่าเป็นเหตุการณ์“ตายหมู่”จากการถูกหลอกให้ประชาชนเป็นเหยื่อความตายของกลุ่มขบวนการ เนื่องจากมีการวางแผนเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว ด้วยการปลุกระดมชวนเชื่อให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนในการต่อสู้ที่ไร้อุดมการณ์ นำไปสู่การสูญเสียชีวิตจะต้องสังเวยไปกับเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ทุกฝ่ายเสียใจกับเหตุการณ์เหล่านั้น แต่กลุ่ม ผกร.กลับใช้เป็นเงื่อนไขในการต่อสู้
สำหรับปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องยอมรับว่ามีปัจจัยแทรกซ้อนหลายเรื่องที่มีความเชื่อมโยงกัน จนทำให้สภาพปัญหามีความสลับซับซ้อนเกี่ยวพันกันในหลายมิติ มีการนำเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา ประเพณีวัฒนธรรม และวิถีชีวิตความเป็นอยู่มาสร้างความแตกต่าง สร้างความแปลกแยก ปลูกฝังความคิดความเชื่อมานานจากอดีตจวบจนปัจจุบัน ให้มีความเกลียดชังคนต่างศาสนา รวมถึงความพยายามของกลุ่ม ผกร. ในการวางแผนสร้างความแตกแยกในพื้นที่ใส่ร้าย สาดโคลนเจ้าหน้าที่รัฐ
นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ที่เคยเข้าร่วมทำการเคลื่อนไหวเหตุกรือเซะ ตากใบ มีบางคนที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์ดังกล่าว นำไปสู่ความเกลียดชังฝังใจ ซึ่งเป็นช่องทางให้กลุ่มขบวนการ นำคนเหล่านั้นเข้าร่วมเป็นสมาชิกโดยง่าย สั่งการให้ทำการก่อเหตุลอบทำร้ายประชาชน ทำร้ายเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งหนึ่งในนั้นมี นายมะรอโซ จันทราวดี อดีตแกนนำคนสำคัญที่เคยก่อเหตุนับครั้งไม่ถ้วนในพื้นที่อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส แต่ต้องมาจบชีวิตจากการเป็นหัวโจกนำพวกบุกโจมตีฐานนาวิกโยธินต้องสังเวย 16 ศพ
เหตุการณ์หลายๆ เหตุเป็นแผนลวง ขุดหลุมพราง ของกลุ่ม ผกร. ที่หลอกคนให้ไปตาย เพื่อต้องการสร้างประวัติศาสตร์ร่วมสมัยขึ้นมา ใช้เป็นเงื่อนไขในการทำลายความชอบธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐในการบังคับใช้กฎหมาย ถึงคราววาระครบรอบเหตุการณ์สำคัญเมื่อไหร่ จะมีปีกการเมืองแนวร่วมออกมารำลึก ทำการเผยแพร่ขุดคุ้ยเรื่องราวเก่าๆ ซึ่งน่ายกย่องสรรเสริญจริงๆ กับแผนชั่ว ที่กลุ่มคนเหล่านี้ได้ใช้ความตายเหยียบศพของพี่น้องมุสลิมด้วยกันเองศพแล้วศพเล่า เพื่อสนองตัณหา สนองความอยาก.. ผลประโยชน์ของแกนนำขบวนการที่เสวยสุขอยู่เมืองนอก เพียงไม่กี่คน...แล้วประชาชนในพื้นที่..ครอบครัวผู้ที่สูญเสียล่ะ...ได้อะไร?
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น